30 เมษายน 2555

Skill ที่ 2 - Debug skill


Skill ที่ 2-Debug skill


การ Debug คืออะไร?
Debug เป็นศัพท์ในการเขียนโปรแกรมคำนึงนะครับ
หมายถึงการทดสอบโปรแกรมที่เราเขียนขึ้นมา
เรียกอีกอย่างว่าการไล่โปรแกรมหรือไล่โค้ดนั่นเอง


การ debug โปรแกรมทำเพื่อ ทดสอบว่าโปรแกรมที่เราเขียนนั้น
มีการทำงานเป็นอย่างไร ตรงตามที่เราต้องการรึเปล่า
เพราะบางทีขั้นตอนที่เราคิดไว้ กับขั้นตคอนที่เราเขียนลงไป
อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ เราจึงต้องมีการ debug โปรแกรมขึ้น


การ debug ทำได้หลายวิธีครับ
ง่ายสุดคือการ debug ด้วยสายตา ค่อยๆไล่ไปทีละบรรทัด ทีละคำสั่ง
เราจะ debug โปรแกรมได้ เราก็ต้องรู้ว่าเวลาคอมพิวเตอร์ทำงานจริงๆ ทำอย่างไร
เราต้องเลียนแบบการทำงานของ คอมพิวเตอร์ให้เป็นครับ
คอมพิวเตอร์เวลาทำงาน จะทำทีละคำสั่ง ทีละบรรทัด
ทีละขั้น ทีละตอน ตามที่เขียนไว้ทุกประการ
เพราะฉะนั้นตอนเรา debug โปรแกรมนั้น ต้องทิ้งนิสัยคนไปก่อน
นิสัยคนที่ผมว่าคือ common sense หรือสามัญสำนึกครับ


จากตอนที่แล้ว Logic skill ผมบอกไปแล้วว่าคอมพิวเตอร์ไม่มีตรงนี้
คอมพิวเตอร์คิดเองไม่เป็นครับ ไม่มีคิดเกิน คิดขาด
สั่งเท่าไหร่ทำเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาเรา debug
เราต้องทิ้ง common sense ไปครับ อย่าไปคิดเอาเอง
อย่าไปเพิ่มคำสั่งที่เราไม่ได้เขียน แล้วก็อย่าไปตัดคำสั่งที่เราเขียนทิ้ง


"ทำทุกอย่างที่เขียนครับ" ไม่มีขาด ไม่มีเกิน นี่คือหัวใจของการ debug เลย
อย่างที่บอกครับ debug ก็เป็นทักษะๆนึง
จะคล่องได้ก็ต้องฝึกครับ
ฝึกด้วยการหัดไล่โปรแกรมต่างๆ
ทั้งโปรแกรมที่เราเขียนเอง หรือ โค้ดที่เราโหลดมาก็ตาม
อย่าลืมนะครับ อย่าใช้ common sense ตอนไล่โปรแกรม
อันนี้สำคัญมาก ถ้าคนเคยเขียนโปรแกรมจะเข้าใจที่ผมบอกครับ


เวลามือใหม่ไล่โปรแกรมที่เขียนเอง จะเผลอคิดเอาเองเสมอๆ
ทำให้บางครั้งเวลาเรารันโปรแกรมผลออกมาผิด
แต่พอเราไล่โปรแกรมด้วยสายตา ไล่ๆไป กลับรู้สึกว่าถูกแล้ว
นั่นเพราะ common sense นั่นเองครับ


สำหรับคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมแล้วอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มไม่เข้าใจนะครับ
ว่าผมกำลังพูดถึงอะไรอยู่ ไม่ต้องตกใจไปครับ
ลองเขียนโปรแกรมดูซักพักแล้วกลับมาอ่านใหม่ครับ จะเข้าใจว่าผมพูดอะไร


ลองฝึกกันดูกับทักษะที่ 2 Debug skill หรือทักษะการไล่โปรแกรมนะครับ
ทักษะต่อไป อันนี้หลายคนชอบมากครับ
ผมฟันธงได้เลย โปรแกรมเมอร์มืออาชีพทุกคนใช้ skill นี้หากินครับ
ทักษะที่ 3 - copy & paste skill
(แล้วจะรู้ว่าโปรแกรมมิ่งง่ายกว่าที่คุณคิดมากๆ ครับ)

25 เมษายน 2555

Skill ที่ 1- Logic skill (ต่อ)


Skill ที่ 1- Logic skill (ต่อ)


วิธีคิดของคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร
คอมพิวเตอร์จะทำงานตามคำสั่งที่ได้รับอย่างเคร่งครัด
สั่ง 1 ทำ 1
สั่ง 2 ทำ 2


ไม่มีแถม ไม่มีขาด
ผมจะชอบบอกนร.ให้จำไว้ว่า คอมพิวเตอร์ไม่ใช่อาแปะ


เราเคยมั้ยครับเวลาไปสั่งชาเย็นอาแปะ
บางทีอาแปะทำโอวัลตินมาให้ สั่งอย่างนึงได้อีกอย่างนึง
สบายใจได้เลยครับ คอมพิวเตอร์ไม่ใช่อาแปะ สั่งอะไรได้อย่างนั้น เป๊ะๆ ไม่มีมั่วนิ่ม
ไม่มีจริงๆครับ

เพราะฉะนั้นการสั่งงานคอมพิวเตอร์ก็ง่ายมากครับ
"สั่งทุกขั้นตอน" เพราะมันคิดเองไม่เป็นครับ
คอมพิวเตอร์ไม่มีสำมัญสำนึก หรือ common sense ครับ
เราต้องสั่งมันทุกอย่าง ทุกขั้น ทุกตอน

ต้องสั่งทุกขั้นตอนหมายถึงอะไร?
บางทีเราอาจจะไม่เข้าใจครับว่าสั่งงานทุกขั้นตอนคืออะไร
เพราะเราชินกับการสื่อสารกับคนมาตลอดชีวิต
คนจะมี common sense ครับ แต่คอมพิวเตอร์ไม่มี
การสั่งงานจึงต่างกัน
  เช่นถ้าเราต้องการสั่งให้คนไปหยิบน้ำมาให้หน่อย
เราก็สั่งว่า ไปหยิบน้ำมาให้หน่อย จบครับ สั่งแค่นี้ รู้เรื่อง เราได้น้ำมากินแล้ว


แต่ถ้าสั่งคอมแค่นี้ ไม่ได้ครับ
คอมจะไม่รู้ว่าจะทำอะไรยังไงบ้าง เพราะมันคิดเองไม่เป็นครับ
เราต้องสั่งคอมว่า การไปเอาน้ำคืออะไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง เป้นลำดับ 1 2 3 4
โดยละเอียด ย้ำว่าโดยละเอียด
คิดง่ายๆว่า คอมพิวเตอร์เป็นเด็กโง่ๆคนนึงที่ไม่รู้จักอะไรบนโลกใบนี้เลยครับ


เราต้องบอกทุกอย่าง ทุกขั้นทุกตอน เช่น
1.น้ำอยู่ที่ไหน น้ำอยู่ในตู้เย็นนะ หาตำแหน่งตู้เย็นก่อน
2.ไปที่ตู้เย็นไปยังไง หันไปทางซ้ายเดินไป 2ก้าว เลี้ยวขวาอีก 2 ก้าว
3.ได้น้ำเลยมั้ย ยังครับ เปิดตู้เย็นก่อน
4.ค้นหาตำแหน่งน้ำ
5.หยิบน้ำออกมา
6.หยิบแก้ว
7.เทน้ำใส่แก้ว
8.เก็บขวดน้ำ
9.เอาแก้วกลับมาส่งให้เรา
เป็นต้น


นี่คือวิธีคิดของคอมพิวเตอร์ครับ
คอมพิวเตอร์จะทำตามที่เราสั่งทุกขั้น ทุกตอน ไม่มีคำว่าคิดเองครับ
เพราะฉะนั้นเวลาเราจะสั่งงานคอมพิวเตอร์
เราต้องสั่งทุกขั้นตอนเช่นเดียวกัน
นี่คือ logic skill ที่ผมพูดถึง
คือทักษะการเรียบเรียงความคิด เรียบเรียงกระบวนการทำงานออกมาเป็นคำสั่ง
ออกมาเป็นขั้น เป็นตอน 1 2 3 4 ให้ได้

ย้ำอีกครั้งว่า คอมพิวเตอร์มันโง่ครับ มันคิดเองไม่เป็น
ความยากอยู่ที่วิธีคิดแบบ 1 2 3 4 นี่แหละครับ
เพราะปกติคนเราไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบนี้ครับ

คนเราจะคิดแบบประมวลผลรวมๆ คิดแบบไม่ได้เป็นระเบียบ ไม่ได้เรียบเรียง
เพราะคนเรามี common sense นั่นเองครับ
แค่ได้ยินคำสั่งว่า เอาน้ำมาหน่อย เราจะรู้ได้เองว่าน้ำก็ต้องอยู่ในตู้เย็น
น้ำต้องใส่แก้ว ไม่ได้บอกว่าน้ำอะไร ก็คือน้ำเปล่า
ไม่ได้บอกจำนวนก็ต้องแก้วเดียว ไม่ได้บอกว่าเอามาให้ใครก็รู้ได้เองว่าเอามาให้คนขอ
และอื่นๆอีกมากมาย ที่คนเราจะรู้ได้เองจาก common sense ครับ
แต่คอมพิวเตอร์ไม่มีตรงนี้เลย ย้ำว่าไม่มีเลยครับ

การฝึก logic skill คือการฝึกวิธีคิดครับ


วิธีคิดที่เป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นลำดับนั่นเอง
ทักษะหรือ skill ตรงนี้ไม่มีทางจะอ่านหรือดูอย่างเดียวแล้วทำเป็นครับ
ต้องผ่านการฝึกเท่านั้น แต่ความง่ายก็คือ แค่ฝึกไปเรื่อยๆครับ
เดี๋ยวเป็นเอง แล้วเป็นแล้วเป็นเลยครับ เหมือนขี่จักรยาน เหมือนว่ายน้ำ เหมือนเตะบอลครับ
ไม่ต้องใช้ความจำ ไม่ต้องท่องอะไรทั้งสิ้น ฝึกทำอย่างเดียวครับ จบ


สุดท้ายหลักการฝึก ควรฝึกอย่างไร? ฝึกจากอะไร?
ฝึกจากโจทย์ที่เราทำได้ครับ เริ่มจากง่ายที่สุดก่อน
เหมือนว่ายน้ำเราต้องฝึกจากลอยตัวก่อน ใส่โฟมตีน้ำไปเรื่อยๆก่อน
อย่าพึ่งเล่นท่ายากครับ จมน้ำตายเปล่าๆ


หาโจทย์ที่ง่ายๆมาทำครับ เอาเยอะเข้าว่า เน้นชม.บินครับ
เอาโจทย์แบบที่มีเฉลยที่เราดูรู้เรื่องนะครับเช่น vdo ใน youtube
search วิธีทำใน google แบบที่สอนวิธีทำทีละขั้น
ที่เราสามารถทำตามได้ แรกๆให้ทำตามทีละขั้นไปก่อนครับ
ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเริ่มเข้าใจว่าวิธีคิดคืออะไร
แล้วค่อยๆ หาโจทย์ที่ยากขึ้นทำต่อๆไป จนในที่สุดเราก็จะเริ่มประยุกต์ได้ด้วยตัวเองครับ


เน้นว่าอย่าเริ่มจากท่ายากนะครับ ฝึกท่าง่ายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเก่งเองครับ
โจทย์ฝึกทักษะพวกนี้มีอยู่ทั่วไปเยอะแยะมากครับ
search google ว่า โจทย์เขียนโปรแกรม, vb tuetorial
เยอะแยะมากครับ

เป็นยังไงบ้างครับกับ Skill ที่ 1 - Logic skill
อธิบายพอให้เห็นภาพนะครับ
ลองฝึกกันดูครับ ขอให้โชคดีครับ
แล้วพบกับ skill ที่ 2 - Debug Skill ครับ

23 เมษายน 2555

Skill ที่ 1- Logic skill


Skill ที่ 1- Logic skill


logic skill คืออะไร
logic คือ ตรรกะ หรือ กระบวนการคิดนั่นเอง

การเขียนโปรแกรมคือ การคุยกับคอมพิวเตอร์นั่นเอง

ภาษาที่เราใช้เขียนโปรแกรม ก็คือภาษาที่ใช้คุยกับคอมพิวเตอร์
ภาษาที่ใช้คือภาษาอะไร บางคนตอนเริ่มต้นอาจจะคิดว่ามันคือ ภาษาอังกฤษรึป่าว
ไม่ใช่นะครับ เราใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษในการเขียน แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษคุยกับคอมพิวเตอร์


เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ฉลาดขนาดนั้นครับ!!!
ความหมายคือ คอมพิวเตอร์มันโง่ครับ มันคุยภาษาคนไม่ได้ เพราะภาษาคนมันยากไป
ฟังไม่ผิดครับ มันโง่จริงๆครับ


คอมพิวเตอร์ไม่สามารถคิด หรือ ประยุกต์ได้อย่างคนเรา
สิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำคือ การทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยกว่านั้น
สั่งอะไรทำแบบนั้น ไม่มีทำขาด ไม่มีทำเกิน


เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่เราต้องเรียนรู้คือวิธีการทำงานของคอมพิวเตอร์ ,วิธีคิดของคอมพิวเตอร์

ภาษาที่ใช้คุยกับคอมพิวเตอร์ก็มีหลายภาษานะครับ เช่น basic, java, C, C++, C#, cobal
ภาษาเหล่านี้จริงๆก็เหมือนภาษาคนที่เราใช้สื่อสารกับคนนี่แหละครับ
มีคำศัพท์ มีรูปประโยค มีไวยกรณ์ เหมือนภาษาคนแต่น้อยกว่าเยอะครับ



ผมแนะนำว่าเริ่มต้นเอาภาษาเดียวพอครับ
จริงๆเราเขียนภาษานึงแบบเทพๆ ก็สามารถหากินได้สบายๆแล้วครับ
ส่วนในเวบผมจะใช้ vb เป็นหลักนะครับ
เพราะ ตอนผมเริ่มเขียน ผมก็เริ่มจาก vb นี่แหละครับ


ความโชคดีคือ ภาษาคอมง่ายกว่า ภาษาคนเยอะครับ
ผมย้ำว่าง่ายกว่าภาษาคนนะครับ ง่ายกว่าจริงๆ
โดยเฉพาะที่ผมชอบที่สุดคือ ภาษาคอม ไม่มีภาษาพูดครับ มีแต่ภาษาเขียน ไม่ต้องหัดฟัง หัดพูดครับ
แล้วไวยกรณ์กับคำศัพท์นั้น ก็ง่ายกว่าภาษาคนมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ถึงมากที่สุดครับ


ถึงขนาดที่ผมกล้าพูดเลยว่า ไม่ต้องใช้ความจำเลย ในการหัดเขียนโปรแกรม
ความจริงคือ ความจำผมเข้าขั้นแย่เลยแหละครับ
เพราะผมแทบไม่ใช้ความจำในการทำงานเลย
ลามไปถึงชีวิตประจำวันผมเลยแย่ไปด้วยเรื่องความจำ
เวลาขับรถไปไหน ผมเลยจำทางไม่เคยได้ เดินไปเดินมาในห้างที่เดินมา ตั้งแต่เด็กผมยังหลงเลยครับ >_<

สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ภาษาคอมพิวเตอร์มันง่ายครับ
เพียงแค่เราเข้าใจวิธีการคิด ทุกอย่างจบ

แค่เรารู้หลักการคิดของคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถเอาหลักการนี้ไปใช้ได้หมด
เพราะฉะนั้นผมจึงเน้นที่ทักษะเป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่โจทย์ หรือ ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้นเวลาทำโจทย์หรือแบบฝึกหัดให้เราเน้นเรียนรู้ที่วิธีคิด
อย่าไปเน้นว่าทำโจทย์ข้อนี้ได้ หรือไม่ได้ ถูกหรือผิด
แต่ให้เน้นที่เราได้เรียนรู้วิธีคิดจากโจทย์ข้อนี้มารึป่าว


นั่นคือ logic skill ในความหมายของ Code Master Club System

"วิธีคิด" นั่นเอง

แล้ววิธีคิดของคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร?

ตอนหน้ารู้กันครับ . . .

Code Master Club System - ระบบการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง


Code Master Club System

ระบบการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง


ระบบการเรียนรู้ที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
เป็นระบบที่ผมคิดขึ้นมาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวผมเองกว่า 10 ปี
และจากการสอนนักเรียนเขียนโปรแกรมมาประมาณกว่า 6 ปี


ปัญหาที่เจอคือ นร.เรียนแล้วเหมือนจะเข้าใจที่สอนดี
แต่พอจะเขียนโปรแกรมที่ต้องการจริงๆ กลับเขียนไม่ได้!!


เกิดจากอะไร?
จากบทความที่แล้วผมได้บอกไปแล้วว่า เกิดจากการที่นร. ไม่ได้กลับไปฝึกเขียนด้วยตัวเองจริงๆ
จะด้วยว่าไม่มีเวลา ขี้เกียจ ทำแล้วไม่ได้ หรืออะไรก็ตาม
แต่การไม่ได้ลงมือเขียน นั่นแหละคือปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เขียนไม่ได้


ผมจึงคิดระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองขึ้นมา 
เพื่อความสะดวกในการเรียนรู้ได้ทันที ตลอดเวลาที่ต้องการ
ไม่ต้องรอพร้อม ไม่ต้องเดินทางไปไหน ขอเพียงตั้งใจและเดินทางวิธีการที่ผมวางไว้
รับรองว่าจะต้องแปลกใจกับความง่ายของการเขียนโปรแกรม


ทุกคนที่ผมสอนด้วยวิธีนี้ บอกอย่างเดียวกันว่า
ทำไมรร.เค้าไม่เห็นสอนแบบนี้เลย? ที่จริงการเขียนโปรแกรมก็ไม่ยากเท่าไหร่นะ
แน่นอนครับโรงเรียนสอนแบบที่ผมทำไม่ได้ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง
เวลาที่มีน้อยเกินไป จำนวนนร.มากเกินไป ค่าใช้จ่ายต้องแพงมากๆ ถึงจะใช้วิธีนี้ได้
เพราะต้องเสียเวลาผู้สอนมากๆ และต้องเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัวเท่านั้น


เอาล่ะแล้วระบบที่ผมว่านี้ มันหน้าตาเป็นยังไง
ต้องเรียนแบบไหน แล้วต้องทำอะไรบ้าง
ผมอยากจะพูดถึงเป้าหมายของการเรียนก่อนว่าเราต้องมีเป้าหมายไปที่อะไร
เราต้องมุ่งพัฒนาไปทางไหน


เป้าหมายของการเรียนนั้น ผมขอให้มุ่งไปที่ "ทักษะ" หรือ Skill
ผมขออนุญาตใช้ศัพท์บางตัวเป็นภาษาอังกฤษนะครับ โดยเฉพาะศัพท์คอม 
เพราะบางทียิ่งแปลจะยิ่งมึน ขอทับศัพท์เลยละกันนะครับ


skill เป้าหมายของผมมี skill อะไรบ้าง ผมขอเรียกมันว่า  Skill 4 นะครับ
ชื่อคล้ายๆ fantastic 4 กรือไม่ก็ อิทธิบาท 4 นะครับ จำง่าย


skill 4 ประกอบไปด้วยอะไรบ้างเดี๋ยวผมจะอธิบายต่อไปนะครับ


นอกจากเป้าหมาย skill 4 ที่ผมอยากให้ไปถึงแล้ว อีกอย่างที่ผมจะวางให้คือ กฎเหล็กในการเรียนรู้
2 อย่างนี้คือเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ของ Code Master Club System นะครับ


Skill 4 & กฎเหล็ก


โปรดติดตามตอนต่อไป . . . . .

11 เมษายน 2555

ควรจะเริ่มเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุเท่าไหร่ดี? (ต่อ)

ความเดิมจากตอนที่แล้วนะครับ

ทำไมถึงมีคนเขียนโปรแกรมได้น้อย?
เพราะเขียนโปรแกรมมันยาก?
เพราะหัวเราไม่ดี?
เพราะเราฉลาดไม่พอ?
เพราะคนที่เขียนเป็นเค้าเกิดมาเพื่อสิ่งนี้?

ความจริงคือ การเขียนโปรแกรมเป็นทักษะอย่างนึงครับ
จะทำเป็นหรือไม่เป็นอยู่ที่การฝึกฝน
ผมจะชอบเปรียบเทียบการเขียนโปรแกรมเหมือนกับการเล่นฟุตบอล
การที่เราชอบดูฟุตบอล ผ่านการดูฟุตบอลมาเป็นพันๆเกม
ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราเล่นฟุตบอลเป็น เพราะการเล่นฟุตบอลเป็นทักษะ
จะเป็นได้ต้องผ่านการลงเล่นจริงด้วยตัวเองเท่านั้น
การเขียนโปรแกรมก็เช่นเดียวกัน จะเขียนเป็นได้ ต้องเกิดจากการลงมือทำด้วยตัวเองเท่านั้น
การที่เราอ่านหนังสือ ฟังครูสอนในห้องเรียน หรือดู vdo ที่สอน ไม่ว่าจะเยอะขนาดไหน
ไม่ได้ทำให้เราเขียนโปรแกรมเป็นขึ้นมาเลย

การจะเขียนเป็นขึ้นมาได้ ต้องผ่านการลงมือทำเท่านั้น
ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเกิดทักษะในการเขียนโปรแกรมขึ้นมาได้
ด้วยเหตุนี้ นร.ที่เข้าเรียนคลาสเขียนโปรแกรมเหมือนกัน
จึงมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมไม่เท่านั้น
เพราะคนที่ลงมือทำเท่านั้น ถึงจะเข้าใจว่าการเขียนโปรแกรมคืออะไร
ต้องคิดยังไง ต้องทำอะไร
คนที่ดูหรือฟังเพียงอย่างเดียวจะรู้สึกเหมือนเราก็เรียนรู้เรื่องนะ
แต่พอจะลงมือทำโจทย์ หรือ ลงมือเขียนอะไรซักอย่างขึ้นมาจริงๆ
กลับเขียนไม่ได้ เริ่มต้นไม่ถูก เพราะไม่มีทักษะที่จำเป็น เพราะไม่เคยลงมือทำนั่นเอง

และด้วยการเรียนการสอนเฉพาะในโรงเรียนนั้น
ผมบอกได้เลยว่าชม.ที่ใช้ในการเรียนต่อวัน หรือ สัปดาห์นั้น น้อยมาก
ไม่มีทางเลยที่เราจะเขียนเป็นจากการเรียนแค่ 4-6 ชม.ต่อสัปดาห์
ถ้าไปถามคนที่เขียนโปรแกรมได้ทุกคนว่า ตอนเริ่มต้นเขียนเป็น เป็นมาจากอะไร
ผมฟันธงได้เลยว่าทุกคนจะตอบเหมือนกันว่า เกิดจากการลงมือเขียน
เกิดจากการทำการบ้าน ทำโจทย์ ทำโปรแกรม ทำโปรเจค ซึ่งก็คือได้ลงมือเขียนนั่นเอง

ผมย้ำว่า 100% เกิดจากการลงมือเขียน
ไม่ใช่เข้าเรียนเยอะ ผ่านมาหลายคอร์ส
เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นคนที่ไม่เคยเรียนสายคอมมาเลย
แต่แค่ชอบด้านนี้ กลับเขียนโปรแกรมได้ดีกว่าคนจบด้านคอมด้วยซ้ำไป

เพราะการลงมือทำ การลงมือเขียนด้วยตัวเองนั่นเอง

กลับมาที่คำถามเริ่มต้นคืออายุเท่าไหร่ดี
จริงๆคือเท่าไหร่ก็ได้ครับ อยู่ที่การฝึกฝนและความชอบจะเด็กหรือจะแก่ จริงๆได้หมด
ไม่ได้อยู่อายุ แต่ผมว่าอยู่ที่ความตั้งใจ และความขยันมากกว่า ว่าเราให้เวลา ให้ความพยายามกับมันมากขนาดไหน

ถ้าถามผม ผมว่าถ้ามีความขยัน มีความมุ่งมั่น และความรักในการลงมือทำ
ผมว่าทุกคนสามารถเขียนได้หมดครับ

อย่าเชื่อผมครับ ผมท้าให้ลองครับ ต้องลองดูด้วยตัวคุณเอง
แล้วพบกันครับ

 
Code Master Club Forum